เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาการดำรงชีวิต ของในหลวง รัชกาลที่ 9

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจและสาขาอื่น ๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และได้จัดทำเป็นบทความเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และได้นำความกราบบังคลทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2542 โดยทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำบทความที่ทรงแก้ไขแล้วไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน โดยมีนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในขณะเดียวกัน บางสื่อได้มีการตั้งคำถามถึงการยกย่องขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งความน่าเชื่อถือของรายงานศึกษาและท่าทีขององค์การ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงปรับปรุงพระราชทานเป็นที่มาของนิยาม "3 ห่วง 2 เงื่อนไข"

แนวคิด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พัฒนาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อที่จะให้พสกนิกรชาวไทยได้เข้าถึงทางสายกลางของชีวิตและเพื่อคงไว้ซึ่งทฤษฏีของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทฤษฎีนี้เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตซึ่งอยู่ระหว่าง สังคมระดับท้องถิ่นและตลอดระดับสากล จุดเด่นของแนวปรัชญานี้คือ แนวทางที่สมดุล โดยชาติสามารถทันสมัย และก้าวสู่ความเป็นสากลได้ โดยปราศจากการต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์ และการอยู่รวมกันของทุกคนในสังคม

หลักปรัชญา
เศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญในช่วงปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทย ต้องประสบปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจ และ ต้องการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพ เพื่อที่จะยืนหยัดในการไม่พึ่งพาผู้อื่น และ พัฒนานโยบายที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า มันไม่ได้มีความจำเป็นที่เราจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ พระองค์ได้ทรงอธิบายว่า ความพอเพียงและการพึ่งตนเอง คือ ทางสายกลางที่จะป้องกันการเปลี่ยนแปลงความไม่มั่นคงของประเทศได้

เศรษฐกิจพอเพียงเชื่อว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมของชมชุนให้ดีขึ้นโดยมีปัจจัย 2 อย่างคือ
1.การผลิตจะต้องมีความสัมพันธ์กันระหว่าง ปริมาณผลผลิตและการบริโภค
2.ชุมชนจะต้องมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรของตนเอง

ผลที่เกิดขึ้นคือ
•เศรษฐกิจพอเพียงสามารถที่จะคงไว้ซึ่งขนาดของประชากรที่ได้สัดส่วน
•ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม
•รักษาสมดุลของระบบนิเวศ และปราศจากการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก

เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาการดำรงชีวิต ของในหลวง รัชกาลที่ 9

หลักปรัชญา
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517

“…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด…”

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ยึดหลักทางสายกลาง ที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียง และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน ทั้งนี้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้สามารถอยู่ได้แม้ในโลกโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันสูง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงปรับปรุงพระราชทานเป็นที่มาของนิยาม “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำมาใช้ในการรณรงค์เผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยความ “พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” บนเงื่อนไข “ความรู้” และ “คุณธรรม”

ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง อธิบายถึงการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงว่า เป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวตลอดจนการใช้ความรู้ ความรอบคอบละคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำต่างๆ ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่พอประมาณ ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ปัจจัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องอาศัยความรู้ และคุณธรรม เป็นเงื่อนไขพื้นฐาน กล่าวคือ เงื่อนไขความรู้ หมายถึง ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและการประกอบการงาน ส่วนเงื่อนไขคุณธรรม คือ การยึดถือคุณธรรมต่างๆ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมและการแบ่งปัน ฯลฯ ตลอดเวลาที่ประยุกต์ใช้ปรัชญา

อภิชัย พันธเสน ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม ได้จัดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็น “ข้อเสนอในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแนวทางของพุทธธรรมอย่างแท้จริง” ทั้งนี้เนื่องจากในพระราชดำรัสหนึ่ง ได้ให้คำอธิบายถึง เศรษฐกิจพอเพียง ว่า “คือความพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภมาก และต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น”

ระบบเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งเน้นให้บุคคลสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน และใช้จ่ายเงินให้ได้มาอย่างพอเพียงและประหยัด ตามกำลังของเงินของบุคคลนั้น โดยปราศจากการกู้หนี้ยืมสิน และถ้ามีเงินเหลือ ก็แบ่งเก็บออมไว้บางส่วน ช่วยเหลือผู้อื่นบางส่วน และอาจจะใช้จ่ายมาเพื่อปัจจัยเสริมอีกบางส่วน สาเหตุที่แนวทางการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ได้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในขณะนี้ เพราะสภาพการดำรงชีวิตของสังคมทุนนิยมในปัจจุบันได้ถูกปลูกฝัง สร้าง หรือกระตุ้น ให้เกิดการใช้จ่ายอย่างเกินตัว ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเกินกว่าปัจจัยในการดำรงชีวิต เช่น การบริโภคเกินตัว ความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ ความสวยความงาม การแต่งตัวตามแฟชั่น การพนันหรือเสี่ยงโชค เป็นต้น จนทำให้ไม่มีเงินเพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น ส่งผลให้เกิดการกู้หนี้ยืมสิน เกิดเป็นวัฏจักรที่บุคคลหนึ่งไม่สามารถหลุดออกมาได้ ถ้าไม่เปลี่ยนแนวทางในการดำรงชีวิต

ซึ่ง ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ได้กล่าวว่า “หลาย ๆ คนกลับมาใช้ชีวิตอย่างคนจน ซึ่งเป็นการปรับตัวเข้าสู่คุณภาพ” และ “การลงมือทำด้วยความมีเหตุมีผล เป็นคุณค่าของเศรษฐกิจพอเพียง”

เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาการดำรงชีวิต ของในหลวง รัชกาลที่ 9

การนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้
ในประเทศไทย
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ถูกใช้เป็นกรอบแนวความคิดและทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาคของไทย ซึ่งบรรจุอยู่ใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุข มุ่งสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่า “สังคมสีเขียว” ด้วยหลักการดังกล่าว แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 นี้จะไม่เน้นเรื่องตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ หรือระบบเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจชุมชนเมืองและชนบท

แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยังถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญของไทย เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในส่วนที่ 3 แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 78 (1) ความว่า: “บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคง ของประเทศอย่างยั่งยืน โดยต้องส่งเสริมการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญ”

นายสุรเกียรติ เสถียรไทย ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ได้กล่าวเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ในการประชุมสุดยอด The Francophonie Ouagadougou ครั้งที่ 10 ที่ Burkina Faso ว่า ประเทศไทยได้ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับ “การพัฒนาแบบยั่งยืน” ในการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านการเกษตรกรรม เศรษฐกิจ และการแข่งขัน ซึ่งเป็นการสอดคล้องเป้าหมายแนวทางของนานาชาติในประชาคมโลก โดยยกตัวอย่างการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ซึ่งเมื่อยึดหลักปรัชญาในการแก้ปัญหาสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ของไทยเติบโตได้ถึงร้อยละ 6.7

นอกประเทศไทย
การประยุกต์นำหลักปรัชญาเพื่อนำพัฒนาประเทศในต่างประเทศนั้น ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน ผ่านทางสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยมีหน้าที่ คอยประสานงานรับความช่วยเหลือทางวิชาการด้านต่าง ๆ จากต่างประเทศมาสู่ภาครัฐ แล้วถ่ายทอดต่อไปยังภาคประชาชน และยังส่งผ่านความรู้ที่มีไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศได้ถ่ายทอดมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี และประสานกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งต่างชาติก็สนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะพิสูจน์แล้วว่าเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ ซึ่งแต่ละประเทศมีความต้องการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิต สภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศ โดยได้ให้ผู้แทนจากประเทศเหล่านี้ได้มาดูงานในหลายระดับ ทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบาย จนถึงระดับปลัดกระทรวง และรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ

นอกจากนั้นอดิเทพ ภาณุพงศ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้กล่าวว่า ต่างชาติสนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยราษฎรของพระองค์ และทราบสาเหตุที่รัฐบาลไทยนำมาเป็นนโยบาย ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วก็ต้องการศึกษาเพื่อนำไปช่วยเหลือประเทศอื่น

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ได้กล่าวถึงผลสำเร็จอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียงโดยองค์การสหประชาชาติ คือ “สหประชาชาติเห็นด้วยกับพระมหากษัติรย์ในเรื่องนี้ [เศรษฐกิจพอเพียง] โดยเริ่มใช้มาตรวัดคุณภาพชีวิตในการวัดความเจริญของแต่ละประเทศ แทนอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งกล่าวถึงแต่ความเจริญทางเศรษฐกิจเท่านั้น”

ในหลวงกับเขื่อน

g-mjvo

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับการชลประทานหรือการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างมาก เพราะทรงตระหนักดีว่า “น้ำคือชีวิต” พระองค์เคยมีกระแสพระราชดำรัสแก่ผู้ถวายงานใกล้ชิดพระองค์ว่า “ฉันสนใจชลประทานมาตั้งแต่เด็ก” ทั้งยังได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะกรรมการสโมสรไลออนส์สากล ภาค ๓๑๐ ประเทศไทย ไว้เมื่อ ๒๕ กันยายน ๒๕๑๒ ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐาน ดังความที่ขออันเชิญมาตอนหนึ่งว่า

                “ในด้านชลประทานหรือด้านป่าไม้นี้ ก็อาจจะมีบางคนเข้าใจว่าทำไมจึงสนใจ และบางคนไม่เข้าใจว่าทำไมฉันสนใจเรื่องชลประทาน หรือเรื่องป่าไม้ จำได้เมื่ออายุ ๑๐ ขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่งสอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดินแล้วให้เขียนว่าภูเขาต้องมีป่าไม้อย่างนั้น เม็ดฝนลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้เรื่องการอนุรักษ์ดินและเป็นหลักของชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอด ตั้งแต่ดินบนภูเข้าหมดไป กระทั้งการที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำ ทำให้น้ำท่วม”

จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชการปัจจุบัน ทรงเรียนรู้เรื่องการชลประทานมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำหริมากมายหลายโครงการ ล้วนเกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำทั้งสิ้น
นับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ รัชการที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงดำรงพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรมอย่างมั่นคง อีกทั้งทรงถือมั่นปฎิบัติตามพระยุคลบาทแห่งองค์สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมจักรีวงค์ เพื่อทรงสืบราชนิติธรรมประเภณีอย่างครบถ้วนในส่วนอาณาประชาราษฎร์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาเพื่อพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ก็ทรงพระเมตตาเอื้ออาทร ให้ได้รับความผาสุกกันทั่วหน้า โดยทรงสละเวลาส่วนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนดูแลทุกข์สุขของราษฎรด้วยพระองค์เองมิได้ทรงว่างเว้น โดยเฉพาะในท้องถิ่นห่างไกล และในพื้นที่ธุรกันดาน

พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการที่ทรงพระวิริยะอุสาหะบำเพ็ญ โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากพระวรกาย และภยันตรายใดๆ ทั้งปวงนั้นเกิดจากน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของพสกนิกรอย่างแท้จริง และด้วยพระราชประณิธานอันมั่นคงที่จะช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากความลำบากยากเข็น เพื่อจะได้มีความสุขตามที่ “พึ่งมี” และ “พึ่งเป็น” จึงนำไปสู่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำหริเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับน้ำ ด้วยมีพระราชวินิฉัยว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญของงานพัฒนาสำหรับเมืองกสิกรรมอย่างประเทศไทย ดังจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ที่ทรงตรากตรำเพื่อทรงหาวิธีการช่วยราษฎรให้พ้นจากความเดือดร้อนในด้านต่างๆ นั้น งานพัฒนาที่สำคัญยิ่งของพระองค์คืองานพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับ “น้ำ”

เริ่มตั้งแต่ ในฤดูร้อนของ พ.ศ. ๒๕๐๕ ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านเขาเต่า ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงพระราชดำหริว่า ที่หมู่บ้านเขาเต่า ซึ่งเป็นหมู่บ้านริมทะเลแห่งนี้ ราษฎรส่วนใหญ่ยังยากจน ขาดแครนน้ำจืดสำหรับอุปโภคบริโภค และไม่มีน้ำเพื่อการกสิกรรม ประกอบกับพระภิกษุในวัดเขาเต่าได้รับความลำบากเดือดร้อนเกี่ยวกับน้ำ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงช่วยเหลือ โดยจัดให้มีแหล่งน้ำขึ้น ด้วยการสร้างเขื่อนดินปิดกั้นน้ำทะเล ไม่ให้ใหลเข้ามาตามคลองที่บริเวณโรงเจข้างเขาเต่า และเพื่อเก็บกั้กน้ำฝนมิให้ใหลลงสู่ทะเล ทำให้เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับให้ราษฎรได้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการกสิกรรม
ในช่วงปลาย พ.ศ. ๒๕๐๕ นั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท แก่กรมชลประทาน สำหรับเป็นทุนเบื้องต้น สมทบเงินงบประมาณของกรมชลประทาน ในการพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นที่หมู่บ้านเขาเต่า เพื่อสนองพระราชดำหริโดยก่อสร้างเป็นเขื่อนดินขนาดสูง ๕ ม. ยาว๖๐๐ ม. ความจุอ่างเก็บน้ำประมาณ ๖๐๐,๐๐ ลบ.ม. มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมในอ่างเก็บน้ำประมาณ ๓๐๐ ไร่ เริ่มก่อสร้างเมื่อต้น พ.ศ. ๒๕๐๖ และแล้วเสร็จในปีเดียวกัน

อ่างเก็บน้ำเขาเต่า ที่อำเภอหัวหิน อ่างเก็บน้ำเขาเต่า ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรก ที่กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้าง เพื่อสนองพระราชดำริ สำหรับเก็บกักน้ำจืดให้ราษฎรเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค
ครั้นต่อมาในแต่ละปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร และแปรพระราชฐานไปประทับพักแรม ณ พระตำหนักในภาคต่างๆ เพิ่มมากขึ้นทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง รวมเป็นเวลานานคราวละหลายเดือนเพื่อทรงสอดส่องดูแลแก้ปัญหาความทุกยากให้แก่ราษฎรในท้องที่ต่างๆ ทำให้ทรงทราบถึงสาเหตูแห่งความลำบากยากจนของราษฎรเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการทำมาหากินในท้องถิ่นทุรกันดาร หรือตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลความเจริญซึ่งปรากฏว่า ราษฎรส่วนใหญ่ที่เป็นชาวไร่ชาวนา มักประสบปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำ หรืออาจจะได้รับความเดือดร้อนเนืองจากน้ำเป็นเหตุ จึงทรงทุ่มเทพระราชหฤทัยในงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำตลอดมา เพื่อการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำ ทั้งในด้านการจัดหาน้ำให้มีพอใช้สำหรับการเกษตร และสำหรับการอุปโภคบริโภค ตลอดจนเพื่อประโยชน์ในด้านอื่นๆ ตามความเหมาะสมกับสภาพท้องที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความเชื่อมั่นว่าเมื่อใดที่สามารถแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องน้ำให้แก่ราษฎร หรือให้ราษฎรมีน้ำกิน น้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกได้แล้วเมื่อนั้นราษฎรย่อมมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิมกล่าวคือ จะมีการกระจายรายได้ และการแลกเปลี่ยนพืชผลระหว่างครอบครัวต่อครอบครัว และหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน ซึ่งผลประโยชน์อันมหาศาลที่จะเกิดตามมาได้แก่ ความร่วมมือที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาชนบทในด้านต่างๆ ส่งผลให้ทุกครอบครัวมีสุขภาพพลานามัยดีขึ้น เพราะมีอาหารบริโภคเพียงพอ มีทุนทรัพย์ที่จะส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนเพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงในภายหน้า ทั้งยังสามารถปรับปรุงซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะยิ่งขึ้น เป็นต้น

ความสนพระทัยในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้จำกัดอยู่เฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยวิธีการจัดสร้างแหล่งน้ำถาวรซึ่งอาจจะเป็นอ่างเก็บน้ำ หรือฝายเพื่อให้ราษฎรในท้องถิ่นชนบทต่างๆ ได้มีน้ำใช้โดยไม่ขาดแคลนเท่านั้น หากแต่ยังทรงหาวิธีการจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎร โดยการทำฝนเทียมดังกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมทอกระสอบไทย สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ สมาคมพ่อค้าข้าวโพด และพืชพันธุ์ไทย รวมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ดังความที่ขออัญเชิญ มาตอนหนึ่งว่า

 “การทำฝนนี้ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย จะต้องมีเครื่อง อุปกรณ์ วัสดุ และเจ้าหน้าที่ งานที่ทำนี้ก็ต้องสิ้นเปลืองไม่ใช่น้อย แต่ถ้าผลที่ได้ก็คือ จะเป็นผลที่น่าพอใจ การทำฝนนี้เป็นสิ่งที่ลำบากหลายๆประการทางด้านเทคนิค และในจังหวะที่จะทำเพราะถ้าพูดถึงด้านเทคนิค ฝนที่ทำนี้จะพลิกฤดูกาลไม่ได้ไม่ใช้ว่าเวลาฝนแล้งจะบันดารอย่างปาฏิหาริย์ ให้มี ฝนพอเพียงกับการเพาะปลูกมิได้ หรือจะแทนการชลประทานที่ขุดเรียบร้อยกว้างขวางไม่ได้แต่เป็นทางหนึ่งที่มีหวังสำหรับในฤดูกาลที่ควรจะมีฝน และฝนเทียมจะช่วยให้ประคองพืชผลไม่ให้สิ้นไปพอได้ …การที่ทำฝนนี้เป็นสิ่งใหม่ จึงต้อทำโครงการอย่างระมัดระวัง เพราะว่าสิ้นเปลือง ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลจะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ…”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากน้ำเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือ ทั้งการจัดหาน้ำให้ท้องถิ่นที่ขาดแคลน และเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนสำหรับท้องถิ่นที่ประสบปัญหาถูกน้ำท่วม จึงนำไปสู่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีกรมชลประทานเป็นหน่วยราชการหลักรับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสนองพระราชดำริขึ้นทุกภาค
อาจกล่าวได้ว่า โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ คือจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ในต่อมาได้ขยายออกไปตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศเป็นจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ อาทิ ใน ภาคเหนือ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพรราชดำริ โครงการแรกที่กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้าง คือ โครงการฝายทดน้ำบ้านหนองหอย ซึ่งเป็นหมู่บ้านราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อหาน้ำให้กับราษฎรบ้านหนองหอย ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ให้มีน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภค และสำหรับการเพาะปลูกพืชผักและพืชเมืองหนาวในพื้นที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่
สำหรับการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเป็นเรื่องที่มีความละเอียด ลึกซึ้ง เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เคยถูกภัยผู้ก่อการร้ายคุกคาม ซึ่งได้สร้างความหวาดกลัวให้กับราษฎรผู้ประกอบสัมมาชีพ จนบางครั้งถึงกับต้องอพยพละทิ้งถิ่นที่อยู่ของตนไปอยู่ยังที่ปลอดภัย ประกอบกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่แห้งแล้งกันดานน้ำเนื่องจากลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย เก็บน้ำไม่อยู่ เมื่อฝนตกน้ำจะแห้งภายในหนึ่งวันหรือสองวันผู้คนส่วนใหญ่จึงยากจนเพราะทำการเพาะปลูกไม่ค่อยจะได้ผล จนเป็นเหตุให้คลาดแคลนอาหารบริโภค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประจักษ์ถึงปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ด้วยพระองค์เองดังนั้น ในคราวที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งส่วนใหญ่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรตามหมู่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหาน้ำให้กับราษฎรในบริเวณพื้นที่ที่ผู้ก่อการร้ายคุกคาม เพื่อให้มีน้ำในการอุปโภคบริโภค และทำการเพาะปลูกตลอดปี โดยมีการรับสั่งว่า

“เมื่อมีน้ำเสียอย่าง ราษฎรก็จะไม่ละทิ้งถิ่นฐานที่อยู่ให้พยายามดึงราษฎรเข้ามาเป็นฝ่ายเราจะได้ไม่เป็นแนวร่วมหรือฝ่ายโน้น ครั้งแรกเราต้องให้ความคุมครองและช่วยเหลือเขาในหนทางต่างๆ ก่อน ซึ่งเป็นนโยบายผลักดันผู้ก่อการร้าย…”

สำหรับภาคใต้ ซึ่งราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างยากจน เนื่องจากทำการเพาะปลูกไม่ค่อยได้ และมีปัญหาเรื่องโจรผู้ร้าย จำเป็นต้องให้หน่วยราชการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งระดมให้ความช่วยเหลือ และ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในภูมิภาคนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เป็นปีแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ พระองค์ทรงมุ่งมั่นพระราชหฤทัยที่จะเสด็จฯ เข้าไปยังหมู่บ้านทุกๆ แห่งที่ทรงกำหนด เพื่อทรงศึกษาสภาพข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดจะได้ทรงพิจารณาให้ความช่วยเหลือได้ตรงตามความประสงค์ของราษฎรต่อไป
การเสด็จราชดำเนินไปตามหมู่บ้านต่างๆ ทำให้ทรงทราบถึงสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความยากจนและการขาดแคลนอาหารว่า มาจากการเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ราษฎรทำนาไม่ค่อยได้ผลนั้น เนื่องมาจากพื้นที่หลายพันไร่ในเขตจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียงเป็นที่ลุ่มมีน้ำขังตลอดปี เกิดเป็นพื้นที่พรุ ทำให้บริเวณขอบพรุใช้เพาะปลูกไม่ได้ผล และใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดไม่ได้ เนื่องจากน้ำมีปริมาณกรดสูงมากเกินไป จึงได้พระราชทานพระราชดำริด้วยพระวิจารณญาณอันลึกซึ้งให้หาทางระบายน้ำลงสู่ทะเลตามความเหมาะสม เพื่อให้พื้นที่ขอบพรุส่วนหนึ่งแห้งลง ราษฎรจะได้ใช้พื้นที่ขอบพรุที่ระบายน้ำออกไปจนแห้งแล้วเป็นที่ทำกินต่อไป ส่วนครองระบายน้ำได้ใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ โดยสร้างประตูระบายน้ำที่จะทำหน้าที่ระบายน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนทิ้งลงทะเล และในห้วงเวลาที่ฝนทิ้งช่วงหรือในช่วงฤดูแล้ง ก็สามารถเก็บกักน้ำในครองระบายน้ำไว้ในระดับที่ต้องการได้ เพื่อการนำไปใช้ทำการเพาะปลูกในพื้นที่ขอบพรุดังกล่าวต่อไป

ปัญหาต่างๆ ของราษฎร อันมีสาเหตุมาจากน้ำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณ นำไปสู่พระราชดำริให้ทำการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แนวพระราชดำริดังกล่าวสามารถจำแนกออกได้ดังนี้
• โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และการอุปโภคบริโภค
• โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร
• โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
• โครงการระบายน้ำออกจากที่ลุ่ม
• โครงการป้องกัน ละบรรเทาน้ำท่วม
• โครงการบรรเทาน้ำเน่าเสีย

แนวคิดในการดำเนินงานตามโครงการต่างๆ ที่พระราชทานแก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นเพียงแนวทางให้เจ้าหน้าที่นำไปพิจารณาศึกษา และวางโครงการโดยละเอียดเพื่อให้ได้ความถูกต้องตามหลักวิชาการเท่านั้น มิใช่จะต้องก่อสร้างตามพระราชดำริทั้งหมด และถ้าพบว่าโครงการที่ผ่านการศึกษาโดยละเอียดแล้วไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการต่อไปก็สามารถระงับการก่อสร้างโครงการนั้นได้ จึงพระราชทานชื่อพระราชดำริที่เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำไวว่า “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

การพิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินโครงการคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศที่จะดำเนินโครงการเป็นสำคัญโดยพิจารณาควบคู่ไปกับแหล่งน้ำ อาทิ สภาพการไหลของน้ำ ขนาดของลำน้ำ นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมประกอบด้วย กล่าวคือ ด้านสถานภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องพิจารณาถึงเงินลงทุนในการก่อสร้างโครงการ ในแง่ความคุ้นค่าที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรอย่างแท้จริง ส่วนเรื่องสภาพสังคมนั้นจะต้องหลีกเลี่ยงการสร้างประโยชน์ให้เฉพาะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยได้ พระราชทานพระดำริไว้ว่า ราษฎรในหมู่บ้านซึ่งได้รับประโยชน์จะต้องแก้ไขปัญหาที่ดินโดยให้ความช่วยเหลือผู้ที่เสียประโยชน์ตามความเหมาะสมตามแต่จะตกลงกันเอง เพื่อให้ทางราชการสามารถเข้าไปใช้ที่ดินทำการก่อสร้างได้โดยไม่ต้องจัดซื้อที่ดิน หากเกิดปัญหาเรื่องที่ดินกับราษฎร โดยไม่สามารถตกลงปัญหาเรื่องที่ดินได้ ให้พิจารณาก่อสร้างเฉพาะโครงการที่ไม่มีปัญหาเรื่องที่ดิน และในระยะต่อไป หากราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวรู้ถึงคุณประโยชน์ที่แท่จริงของโครงการจนตกลงปัญหาเรื่องที่ดินกันได้แล้ว และกราบบังคมทูลพระกรุณาพระราชทานความช่วยเหลือมาอีกครั้ง จึงจะพิจารณาดำเนินการต่อไป

พระราชดำรินี้ นอกจากจะเป็นการป้องกันปัญหาขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว ยังคงมุ่งหวังให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมกับรัฐบาลซึ่งก่อให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในสังคม และเป็นการสร้างความรู้สึกหวนแหนที่จะบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ให้มีสภาพใช้การได้ดีตลอดไปด้วย

ในทางปฏิบัติ บางครั้งไม่สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จทันตามความต้องการของราษฎรได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ปัญหาด้วยการพระราชทานพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างไม่เกิน ๑๐ ล้านบาทและสามารถสร้างให้เสร็จได้ภายในเวลาเพียง ๑ ปี โดยพิจารณาดำเนินการให้กับหมู่บ้านยากจนที่ขาดแคลนน้ำมากเป็นกรณีพิเศษก่อน ต่อไปภายหน้าถ้ามีงบประมาณเพียงพอจึงค่อยสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนบริเวณต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำต่างๆ โดยเฉพาะลำธารที่มีน้ำไหลตลอดปี โปรดพิจารณาสร้างฝายเก็บกักน้ำต้นน้ำลำธารไว้เป็นชั้นๆตามความเหมาะสม แล้วต่อท่อชักน้ำจากเหนือฝาย หรือขุดร่องน้ำจากเหนือฝายเพื่อกระจายน้ำให้กับพื้นที่ป่าไม้บริเวณสองฝั่งลำธารนั้นๆ ช่วยให้พื้นดินสองฝั่งมีความชุ่มชื้นสามารถปลูกพืชผักทำการเกษตรและทำนาข้าวให้เจริญงอกงามแลดูเขียวชอุ่ม อยู่ตลอดปี ทั้งสามารถป้องกันไฟป่าที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำอีกด้วย นอกจากนั้นยังได้รับผลพลอยได้ทางด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นใช้ โดยสามารถติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ที่บริเวณ อ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำ เพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียง ที่การไฟฟ้าไม่สามารถต่อไฟฟ้าไปให้ใช้ได้ เพราะค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากน้ำมันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และเพื่อประโยชน์ที่จะใช้เป็นแสงสว่างในหมู่บ้าน

สำหรับพื้นที่ที่เป็นเขตป่าสงวน ส่วนที่เป็นลักษณะเป็นหุบเขา เหมาะจะสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพระราชดำริให้รีบดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำให้มีความจุอย่างเต็มทีโดยเร่งด่วนที่สุด เพราะถ้าล่าช้า หาก ราษฎรบุกรุกเข้าไปทำกินในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้ยากแม้ในพื้นที่ที่น้ำท้วมก็ไม่มีข้อจำกัดในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บน้ำที่จะเกิดจากพื้นที่ลุ่มน้ำเหนืออ่างไว้ทั้งหมด
ส่วนบริเวณของต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำต่างๆ โดยเฉพาะลำน้ำลำธารที่มีน้ำไหลตลอดปีมีพระราชดำริให้พิจารณาสร้างเก็บกักน้ำต้นน้ำลำธารไว้เป็นชั้นๆ ตามความเหมาะสมแล้วต่อท่อชักน้ำจากเหนือฝายด้วยวัสดุท้องถิ่น อาทิ ไม้ไผ่ที่เจาะรูให้น้ำไหลได้ตลอด หรือขุดร่องน้ำรับน้ำจากเหนือฝาย เพื่อกระจายน้ำจากฝายให้พื้นที่ป่าไม้บริเวณสองฝากฝั่งลำน้ำลำธารนั้นๆ ซึ่งช่วยให้พื้นที่ดินดังกล่าวมีความชุ่มชื้น รวมไปถึงแนวป่า ส่งผลให้ต้นไม้เขียวชอุ่มตลอดปี เป็นการป้องกันไฟป่าในฤดูแล้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกลักษณะป่าเช่นนี้ว่า “ป่าเปียก”
ในส่วนของทหารก็ทรงเห็นสมควรให้ก่อสร้างโครงการประเภทอ่างเก็บน้ำ เพื่อจัดหาน้ำสนับสนุนงานด้านการเกษตรกรรมทหาร ให้กับหน่วยทหารประจำการ เพื่อครอบครัวทหารชั้นผู้น้อยจะได้มีน้ำไว้ใช้ทำการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝนและในฤดูแล้งสำหรับเป็นรายได้เสริมแก่ครอบครัวในขณะประจำการ อีกทั้งเมื่อปลดประจำการไปแล้ว ยังมีความรูด้านการเกษตรกรรม สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเลี้ยงครอบครัวได้ และในโอกาสหน้า จะได้ช่วยเหลือราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียงให้มีน้ำอุปโภคบริโภค
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนืองมาจากพระราชดำริจึงก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการแก่ประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นในด้านเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเพาะปลูก เพื่อการผลิตไฟฟ้า เพื่อจัดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาที่สำคัญ หรือเพื่อประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหยอนใจของประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จากแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องน้ำที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมายหลากหลาย นำไปสู่แนวความคิดในการเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ซึ่ง โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก เป็นหนึ่งในจำนวนโครงการดังกล่าว ด้วยทรงพิจารณาเห็นว่าได้เกิดปัญหาน้ำท้วมสลับกับน้ำแล้งขึ้นในพื้นที่ภาคกลางเป็นประจำและทุกครั้งที่เกิดปัญหาได้นำความมาสู่สูญเสียให้กับเกษตรอย่างมหาศาลจึงจำเป็นต้องสร้างพื้นที่เก็บกักน้ำขนาดใหญ่ไว้ เพื่อให้มีแหล่งต้นทุนน้ำชลประทาน สำหรับใช้ในงานเกษตรช่วงฤดูแล้ง พร้อมกันนั้นก็เป็นการป้องกัน และบรรเทาอุทกภัยในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างด้วย
สำหรับ เขื่อนพระราม ๖ อันเป็นหัวใจของ “โครงการป่าสักใต้” ที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า-เจ้าอยู่หัวทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้นั้น

ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และภาวะน้ำล้นเกินความต้องการในฤดูหลาก ซึ่งสร้างปัญหาแก่พื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ทั้งนี้ เนื่องจากแม่น้ำป่าสักมีปริมาณน้ำไหลเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ ๒๔๐๐ ล้านลบ.ม. และถ้าคิดเฉลี่ยในช่วงเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน มีถึงประมาณ ๑๖๐๐ ล้าน ลบ.ม. ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ปริมาณน้ำจำนวนมากเช่นนี้ นอกจากการท้าวขังในพื้นที่เป็นเวลายาวนานประมาณ ๒ สัปดาห์ ถึง ๑ เดือน ในแต่ละปีแล้วก็ ถูกปล่อยลงทะเล มิได้มีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แต่ประการใด ทั้งๆ ที่ในฤดูแล้งเกิดการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ผู้ทรงเป็นปราชญ์ในเรื่องน้ำของแผ่นดินอย่างแท่จริง ทรงพระราชวินิจฉัยถึงวิธีแก้ปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคกลางและได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น ๒ แห่ง คือ แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำนครนายก เพื่อจะได้มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ขณะเดียวกัน ก็ช่วยป้องกัน บรรเทาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากด้วย พระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ภาคกลางที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และการขาดแคลนน้ำดังกล่าวนี้ ปรากฏชัดเจน ในกระแสพระราชดำรัชที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้พระราชทานแก้คณะบุคคลต่างๆ เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ดังความตอนหนึ่งที่ขออันเชิญมาดังนี้

                 “…หมู่นี้ก็พูดกันอย่างขวัญเสียว่า อีกหน่อยต้องปันส่วนน้ำ หรือ ต้องตัดน้ำประปา อันนี้สำหรับกรุงเทพฯ ดังนั้นต้องหาแนวทางแก้ไข ซึ่งปัญหานี้ต้องวางแผนมาเป็นเวลาหลายปี แล้ว ถ้าหากว่า ได้ปฏิบัติ วันนี้ เราก็ไม่ต้องพูดถึงการขาดแคลนน้ำ โครงการโดยเฉพาะนั้นก็มี และโครงการนั้นได้ยืนยันมาเมื่อเดือนกว่าแล้วที่นราธิวาส โดยวางโครงการ และแม้เป็นโครงการไม่ได้แก้ปีนี้หรือปีหน้า แต่ถ้าทำอย่างดีประมาณ ๕ หรือ ๖ ปี ปัญหาน้ำขาดแคลนในกรุงเทพฯ จะหาไปโดยสิ้นเชิง อาจจะนึกว่า ๕-๖ ปี นั้นนาน ความจริงไม้นาน และระหว่างนี้เราก็พยายามแก้ไขเฉพาะหน้าไปเรื่อย แต่ถ้ามีความหวังว่า ๕-๖ ปี ปัญหานี้หมดไป ก็คงมีกำลังใจที่จะฝ่าชีวิตต่อไป”

นอกจากนั้น ยังมีพระราชดำริให้พิจารณาก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรหมู่บ้านป่าไม้ และราษฎรหมู่บ้านอาสาพัฒนาป้องกันตนเอง ( อพป. ) ด้วย เพื่อราษฎรเหล่านี้จะได้มีน้ำใช้ทำการเพาะปลูกได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมทั้งมีน้ำไว้อุปโภคบริโภคได้ตลอดปีด้วย อันจะเป็นการช่วยให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น จะได้หวงแหนถิ่นที่อยู่อาศัย และกำจัดเงื่อนไขความยากจนที่ฝ่ายตรงข้ามใช้เป็นเครื่องมือในการชักจูงให้ราษฎรให้เป็นฝ่ายตน

อันที่จริง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริ ถึงวิธีแก้ปัญหาวิกฤตเรื่องน้ำในพื้นที่ภาคกลางมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยพระราชทานแนวคิดให้กรมชลประทานตั้งแต่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการศึกษาความเหมาะสมในการจัดทำ โครงการเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก อย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อช่วยแก้ไข ปัญหาการขาดแคลนน้ำ จะได้อำนวยประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำป่าสัก ทั้งยังส่งผลการบรรเทาอุทกภัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย แต่ครั้งนั้นมิได้มีพระราชกระแสรับสั่งเป็นการทั่วไปด้วยเหตุผลดังกระแสพระราชดำรัช ที่ได้พระราชทานไว้ในโอกาสเดียวกันกับพระราชดำรัชที่อัญเชิญมาในช่วงต้น ความตอนหนึ่งว่า

“…โครงการที่คิดจะทำนี้ บอกได้ไม่กล้าพูดมาหลายปี เพราะ เดี๋ยวนี้จะมีที่คัดค้านจาก ผู้เชี่ยวชาญ จากผู้ที่ต่อต้านการทำโครงการ แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่ทำได้ และอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ แม้จะเสียค่าใช้จ่ายมิใช้น้อย แต่ถ้าเดี๋ยวนี้ดำเนินการไปเดี๋ยวนี้ อีก ๕-๖ ปี ข้างหน้าเราสบาย แต่ถ้าไม่ทำ อีก ๕-๖ ปี ข้างหน้า ราคาค่าสร้าง ค่าดำเนินการก็จะขึ้นไป ๒ หรือ ๓ เท่า ลงท้ายก็ต้องประวิงต่อไป และเมื่อประวิงต่อไปไม่ได้ทำ เราก็ต้องอดน้ำแน่ จะกลายเป็นทะเลทราย และเราก็จะอพยพไปไหนไม่ได้ โครงการนี้คือ สร้างอ่างเก็บน้ำ ๒ แห่ง แห่งหนึ่ง คือ ที่แม่น้ำป่าสัก อีกแห่งหนึ่งที่แม่น้ำนครนายก ๒แห่งรวมกัน จะเก็บน้ำเหมาะสมพอเพียงสำหรับการบริโภค การใช้น้ำในเขตกรุงเทพฯ และเขตใกล้เคียงในที่ราบลุ่มของประเทศไทย…”

ที่มา… หนังสือ “เขื่อนป่าสักชลสิทธ์” โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก อันเนื่องมาจากพระราชดำหริ / คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์

 

การดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

images
การดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
          “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่ใช้พื้นฐานการดำเนินชีวิตตามทางสายกลางมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพึ่งตนเองเป็นหลัก มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง พิจารณาถึงความพอเหมาะพอดี มีเหตุผลที่พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกมิติของการดำเนินชีวิต
          การปฏิบัติตนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงสามารถทำได้โดยยึดหลักสายกลาง ไม่ประหยัดจนตระหนี่ถี่เหนียว หรือฟุ้งเฟ้อจนเกินความจำเป็น กล่าวคือ ประหยัดในทางที่ถูกต้อง และลดละความฟุ่มเฟือย รวมทั้งต้องประกอบอาชีพด้วยความถูกต้องสุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพก็ตาม ก็ต้องไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก โดยต้องขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้เกิดมีรายได้เพิ่มพูนขึ้นจนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการแก่งแย่งผลประโยชน์ และแข่งขันกันในทางการค้าขายหรือประกอบอาชีพแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่วให้หมดสิ้นไป ทั้งนี้ เนื่องจากสังคมไทยที่ล่มสลายลงเพราะยังมีบุคคลจำนวน ไม่น้อยที่ดำเนินการโดยปราศจากความละอาย
          เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้เพราะเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา เป็นแนวปฏิบัติตนไม่ว่าจะอยู่ในกิจกรรม หรืออาชีพใด ก็ต้องยึดถือวิถีไทยอยู่แต่พอดี อย่าฟุ่มเฟือยอย่างไร้ประโยชน์ อย่ายึดวัตถุเป็นที่ตั้ง ยึดเส้นทางสายกลางอยู่กินตามฐานะ ใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิต เจริญเติบโตอย่าง ค่อยเป็นค่อยไป อย่าใช้หลักการลงทุนเชิงการพนัน ซึ่งตั้งอยู่บนความเสี่ยง กู้เงินมาลงทุนโดยหวังรวยอย่างรวดเร็ว แล้วก็ไปสู่ความล้มละลายในที่สุด
          เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานเพื่อชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนให้กับประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทุกระดับ ทุกสาขาอาชีพ โดยทรงห่วงใยต่อสถานการณ์ และปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีผลมาจากการพัฒนาประเทศในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของประชาชนชาวไทยและสังคมไทยโดยรวม จึงทรงเตือนทุกฝ่ายให้รู้จักคำว่า “พอเพียง” อย่าทำอะไรเกินตัว ทำอะไรด้วยสติ มีความรอบคอบระมัดระวัง ดำรงชีวิตอย่างสมถะและสามัคคี ซึ่งจะนำพาตนเองและประเทศชาติให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตต่าง ๆ และนำพาสังคมและประเทศชาติไปสู่ความมั่นคงและความสุขได้
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  http://msm.sskedarea.net/popeang.php
เรียบเรียงโดย ธนัชพร ถ้ำสิงห์

โครงการตามแนวพระราชดำริ

  • การจัดการทรัพยากรน้ำ
               จากการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนพสกนิกรนับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ ทำให้ทรงตระหนักว่าภัยแล้งและน้ำเพื่อการเกษตรและบริโภคอุปโภคเป็นปัญหาที่รุนแรงและสำคัญที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใฝ่พระราชหฤทัยเกี่ยวกับการจัดการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างยิ่ง มีพระราชดำริว่าน้ำคือปัจจัยสำคัญต่อมนุษย์และบรรดาสิ่งมีชีวิตอย่างถ่องแท้ ดังพระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2529 ความตอนหนึ่งว่า “…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”

     

     

  • การส่งเสริมการเรียนรู้
              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณยิ่งต่อการศึกษาของเยาวชน ทรงสนับสนุนการจัดตั้งโรงเรียนต่าง ๆ สำหรับเยาวชนทุกประเภท เพื่อสงเคราะห์เด็กยากจนและขาดแคลนการศึกษา นอกจากนี้ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งสถานีส่งโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมขึ้นที่โรงเรียนวังไกลกังวล ทำให้นักเรียนมีโอกาสได้รับความรู้ และศึกษาเล่าเรียนทัดเทียมกับนักเรียนในเมือง รวมทั้งประชาชนผู้สนใจก็ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมได้ นับเป็นการพัฒนาการบริหารงานวิชาการในด้านการจัดการเรียนการสอน การใช้สื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา การขยายโอกาสทางการศึกษา และการอาชีวศึกษาที่กว้างไกลและยังประโยชน์แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า

     

     

  • การพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต
              ด้วยเดชะพระบารมี พระปรีชาสามารถที่ทรงเห็นการณ์ไกล และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมุ่งมั่นบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรที่ยากไร้ในชนบท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ให้ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของราษฎร จัดหาอาชีพให้ราษฎรทำ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้ เพียงพอ แก่การยังชีพ ในภาวะปัจจุบัน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ดำเนินการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตในหลายโครงการ

     

     

     

  • การสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อผู้ด้อยโอกาส
              สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการและการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเสริมและพัฒนาคุณภาพ และศักยภาพของเด็กไทยในชนบท เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เพื่อการเรียนรู้ และการประกอบอาชีพ

     

     

     

  • การพัฒนาบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
              กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับการสร้างคนดี และคนเก่งในสังคม การส่งเสริมและเร่งรัดการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นพลังของประเทศ รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับ

     

     

     

     

  • การถ่ายทอดเทคโนโลยี
              การถ่ายทอดเทคโนโลยี หมายถึงกระบวนการที่นำเอาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น (หรือพัฒนาขึ้น) ในสถานที่หนึ่ง เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่ง ไปใช้ในที่อื่นเพื่อวัตถุประสงค์ เดียวกันหรือเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานในการสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุนให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม  ได้ดำเนินงานโครงการตามแนวทางพระราชดำริ ดังนี้

โครงการพระราชดําริ หญ้าแฝก

โครงการหญ้าแฝก

 

 

โครงการหญ้าแฝก

 

“….ให้ใช้หญ้าแฝกในการพัฒนา ปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม…”

 

พระราชดำริ

เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงครองราชย์ ๖๐ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ และจะทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ ระหว่าง ปี ๒๕๔๘-๒๕๕๐ เพื่อการรณรงค์ส่งเสริมและขยายผลให้ประชาชนปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และนำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม กว้างขวางและต่อเนื่อง โดยการรวมใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เข้าร่วมโครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้การสนับสนุนของ ๑๑ หน่วยงาน ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) เป็นประธานในพิธี กรอบแห่งความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ คือ ทั้ง ๑๑ หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้ตกลงให้มีความร่วมมือกันปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติ ๖๐ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ เฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ มีระยะเวลาดำเนินงานโครงการระหว่างปี ๒๕๔๘-๒๕๕๐ โดยเริ่มดำเนินการดีเดย์ตั้งแต่วันพืชมงคล คือวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ถึงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยมี เป้าหมายที่จะปลูกหญ้าแฝก จำนวนไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ล้านกล้า และจนเกิดผลสำเร็จในการใช้หญ้าแฝกปรับปรุงและรักษาหน้าดินจำนวนไม่ต่ำกว่า ๘๐๐,๐๐๐ จุด ทั่วประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินสนับสนุนกล้าพันธุ์หญ้าแฝก และถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่ลาดชันรอบแหล่งน้ำ บ่อน้ำ สองข้างทางลำเลียง และถนน รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีการบำรุงดูแลรักษาหญ้าแฝกที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง มีการติดตามและปลูกซ่อมแซมให้ครบถ้วน ซึ่งบันทึกข้อตกลงได้มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลง คือ วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘ จนถึง วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

ลักษณะของหญ้าแฝก

หญ้าแฝก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติ จากการสำรวจพบว่า มีกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ ๑๒ ชนิด และสำรวจพบในประเทศไทย ๒ ชนิด ได้แก่
๑. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร ๒ ศรีลังกา สงขลา ๓ และพระราชทาน ฯลฯ
๒. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกดอน ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร ๑ นครสวรรค์ และเลย เป็นต้น
หญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะ แคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกันแน่นยาว หยั่งลึกในดิน มีช่อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็กดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมัน

ลักษณะพิเศษของหญ้าแฝก
การที่หญ้าแฝกถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องมาจากมีลักษณะเด่นหลายประการ ดังนี้
๑. มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง
๒. มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก
๓. หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี
๔. ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้
๕. มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย
๖. ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ
๗. บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์
๘. ปรับตัวกับสภาพต่าง ๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป
๙. ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่าง ๆ

การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่การเกษตร
สำหรับการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งประกอบด้วย
๑. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ ใช้ระยะระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือยและระยะ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ระยะห่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน ๒ เมตร หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน ๔-๖ เดือน
๒. การปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ นำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกที่มีการแตกกอและแข็งแรงดีแล้วไปปลูกในร่องน้ำ โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำ เป็นแนวตรง หรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปทิศทางน้ำไหลอาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหิน ช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก ระยะห่างระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง และระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกไม่เกิน ๒ เมตร ตามแนวตั้งหลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำควรปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำออกไปทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก
๓. การปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้ ควรปลูกหญ้าแฝกในสวนผลไม้ระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนที่จะลง ไม้ผล โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล ๒.๕ เมตร เพื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรียวัตถุในดินต่อไป
๔. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ การปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ โดยการขุดร่องปลูกตามแนวระดับ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ควรใช้ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกหญ้าแฝก หรือปลูก หญ้าแฝกเป็นแนวระหว่างแถวปลูกพืชไร่ และควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้นในช่วงต้นฤดูฝน
๕. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม ในสภาพพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่มที่มีการปรับสภาพเป็นแปลงยกร่องเพื่อปลูกพืชนั้น สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบเขตพื้นที่ หรือปลูกที่ขอบแปลงยกร่องหญ้าแฝกจะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นในดินเอาไว้
๖. การปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน ควรปลูกตามแนวที่ระดับน้ำสูงสุดท่วมถึง ๑ แนว และปลูกเพิ่มขึ้นอีก ๑-๒ แนวเหนือแนวแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของขอบสระ ระยะห่างระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง โดยขุดหลุมปลูกต่อเนื่องกันไป ในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่นเมื่อน้ำไหลบ่ามาลงสระตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำ จะติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อย ๆ ไหลผ่านลงสู่สระและระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดติดดินรอบ ๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการ พังทลาย

รูปแบบการปลูกหญ้าแฝก
เพื่อให้การดำเนินการปลูกหญ้าแฝกตามโครงการนี้มีรูปแบบที่ชัดเจน จึงได้มีการกำหนดรูปแบบการปลูกที่สามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ได้ ซึ่งประกอบด้วย

๑. การปลูกในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวเดี่ยวขวางความลาดชันของพื้นที่ถ้าใช้กล้าแบบรากเปลือยจะปลูกระยะระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร ถ้าเป็นกล้าถุงพลาสติก ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น ๑๐ เซนติเมตร โดยปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับ ให้มีระยะห่างระหว่างแถวตาม แนวดิ่งไม่เกิน ๒ เมตร ความยาวของแถวหญ้าแฝกขึ้นกับสภาพพื้นที่ และพื้นที่ว่างระหว่างแถวหญ้าแฝกจะเป็นพื้นที่ปลูกพืชหลัก
๒. สระน้ำปลูก ๒ แถว
– แถวที่ ๑ ปลูกห่างขอบบ่อ ๕๐ เซนติเมตร จนรอบบ่อ
– แถวที่ ๒ ปลูกที่ระดับทางน้ำเข้า จนรอบบ่อ
๓.อ่างเก็บน้ำปลูก ๓ แถว
– แถวที่ ๑ ปลูกที่ระดับทางน้ำล้นจนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ
– แถวที่ ๒ ปลูกที่ระดับสูงกว่า แถวที่ ๑ ตามแนวดิ่ง ๒๐ เซนติเมตร จนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ
– แถวที่ ๓ ปลูกที่ระดับต่ำกว่า แถวที่ ๑ ตามแนวดิ่ง ๒๐ เซนติเมตร จนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ
๔. ปลูกริมคลองส่งน้ำ ๑ แถว ห่างขอบคลองส่ง ๓๐ เซนติเมตร
๕. ปลูกบนร่องสวน ๑ แถว ห่างขอบแปลง ๓๐ เซนติเมตร
๖. ปลูกอยู่บนไหล่ถนน ๑ แถว สำหรับถนนหรือทางลำเลียง
๗. ปลูกครึ่งวงกลมล้อมต้นไม้
– ต้นไม้ขนาดเล็ก รัศมีขนาด ๑ เมตร เป็นระยะทาง ๓ เมตร
– ต้นไม้ขนาดกลาง รัศมีขนาด ๒ เมตร เป็นระยะทาง ๖ เมตร
– ต้นไม้ขนาดใหญ่ รัศมีขนาด ๓ เมตร เป็นระยะทาง ๙ เมตร
๘. ปลูกวงกลมล้อมต้นไม้
– ต้นไม้ขนาดเล็ก รัศมีขนาด ๑ เมตร เป็นระยะทาง ๖ เมตร
– ต้นไม้ขนาดกลาง รัศมีขนาด ๒ เมตร เป็นระยะทาง ๑๒ เมตร
– ต้นไม้ขนาดใหญ่ รัศมีขนาด ๓ เมตร เป็นระยะทาง ๑๘ เมตร
การปลูกหญ้าแฝกทุกครั้งจะต้องปลูกให้ต้นชิดติดกันเป็นแถว ไม่ว่าจะเป็นกรณีแถวตรงหรือแถวโค้งรอบต้นไม้ก็ตาม ถ้าใช้กล้าถุงมีระยะปลูกระหว่างต้น ๑๐ เซนติเมตร และกล้ารากเปลือยระยะปลูก ๕ เซนติเมตร

 

โครงการ ของพระราชดำริ เกี่ยวกับ ดิน

โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับดิน

 

     ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่เลี้ยงชีพโดยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของดินมาช้านาน แผ่นดินจึงเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ด้วยพระปรีชาญาณอันยิ่งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของดิน อันเกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ เช่น บางแห่งเป็นดินเปรี้ยว ดินด่าง ดินเค็ม และบางแห่งก็ไม่มีดินเลย ซึ่งทรงเรียกดินเหล่านี้ว่าดินแร้นแค้นนอกจากนี้ ความเสื่อมโทรมของดินยังเกิดจากการกระทำอันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า และการใช้พื้นที่โดยขาดการอนุรักษ์ จึงพระราชทานแนวพระราชดำริในการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาทรัพยากรดินเป็นอเนกประการ ซึ่งล้วนแต่นำประโยชน์สุขมาสู่เกษตรกรทั่วประเทศ

 

:: ตัวอย่างโครงการ ::

 

โครงการแก้มลิง

โครงการแก้มลิง แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำไม่พอใช้ตลอดปี

แก้มลิง เป็นการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับพื้นที่หน่วงน้ำ (detention basin) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ปัจจุบันมีพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ เหนือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยกำหนดในผังการใช้ที่ดินเป็นพื้นที่เขียวลาย ไม่เหมาะกับการพัฒนา นอกจากนี้ยังมีแก้มลิงเล็กใหญ่กระจายอยู่ทั่ว กรุงเทพ กว่า 20 จุด

โครงการแก้มลิง มีแนวคิดจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มไว้ได้คราวละมากๆ พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสอธิบายว่า“ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อนลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือ เต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง”

ในโครงการ มีการวางแผนพื้นที่แก้มลิงอย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานต่างๆ เช่น กทม. กรมชลประทาน เป็นต้น แก้มลิงมี 3 ขนาด จากใหญ่ กลาง เล็ก มีวัตถุประสงค์เพื่อการชะลอน้ำก่อนที่จะจัดการระบายออกในเวลาต่อมา สามารถเป็นได้ทั้งพื้นที่ของรัฐและเอกชน

 

การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ “แก้มลิง” มีลักษณะและวิธีการดังนี้

1. ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล
2. เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลอง ดังกล่าว โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ
3. สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ “แก้มลิง” นี้ เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง
4. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ โดยยึดหลักน้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)

แผนภาพแสดงแนวพระราชดำริแก้มลิง

หลักการ 3 ประเด็น ที่โครงการแก้มลิงจะสามารถมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริคือการพิจารณา

1. สถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพัก และวิธีการชักนำน้ำท่วมไหล เข้าสู่บ่อพักน้ำ
2. เส้นทางน้ำไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ
3. การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำอย่างต่อเนื่อง

โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ

โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายออกทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ คือ โครงการแก้มลิง “แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง” ซึ่งใช้หลักการในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ

โครงการแก้มลิง แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง จะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ต้องดำเนินการครบระบบ 3 โครงการ ด้วยกัน คือ

– โครงการแก้มลิง “แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง”
– โครงการแก้มลิง “คลองมหาชัย-คลองสนามชัย”
– โครงการแก้มลิง “คลองสุนัขหอน”

โครงการแก้มลิง นับเป็นนิมิตรหมายอันเป็นสิ่งที่ชาวไทยทั้งหลายได้รอดพ้นจากทุกข์ภัยที่นำความเดือดร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ซึ่งแนวพระราชดำริอันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า

“…ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป เพราะโครงการแก้มลิงในอนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่…”

โครงการพระราชดำริ

โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับป่า

 

โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับดิน

โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำ

โครงการทางด้านวิศวกรรม

แนวพระราชดำริอื่นๆ

วันพ่อแห่งชาติ

วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา หลักการและเหตุผลที่มีการจัดตั้งวันพ่อขึ้นแห่งชาติ เนื่องจากพ่อ เป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคมที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนและตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็น “วันพ่อแห่งชาติ”

วิถีชีวิตกับเศรษฐกิจพอเพียง

=k;

 

วิถีชีวิตกับเศรษฐกิจพอเพียง

อัจฉรา จันทพลาบูรณ์
ห้องเรียนทันข่าว สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี …..
ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ

โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสมดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียรมีสติปัญญาและความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี (ประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ตามหนังสือที่ รล.0003/18888 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 สำนักราชเลขาธิการพระบรมมหาราชวัง กทม.)
คนส่วนมากมักเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของเกษตรกรในชนบทเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วเศรษฐกิจพอเพียงถือว่าเป็นปรัชญาหรือแนวทางการดำรงชีวิต ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับประชาชนในทุกระดับทั้งระดับบุคคล ระดับธุรกิจ และระดับประเทศ ปรัชญาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) นี้ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 3 ประการได้แก่
1. หลักการพอประมาณ ซึ่งหมายถึงการดำเนินชีวิต ดำเนินธุรกิจ หรือบริหารประเทศอย่างสมดุลบนทางสายกลางไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง

2. หลักการมีเหตุมีผล หมายถึง การนำความรู้ต่างๆ มาใช้ในการตัดสินใจอย่างมีสติอยู่บนพื้นฐานของการใช้เหตุผลไม่ใช้อารมณ์

3. หลักการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งหมายถึงการวางแผนการดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างระมัดระวังและรอบคอบ รวมทั้งมีระบบภูมิคุ้มกันหรือระบบป้องกันความเสี่ยงที่ดี ที่สามารถช่วยรองรับผลกระทบจากความผันผวนต่าง ๆ

นอกจากนั้น หลักการทั้ง 3 ด้านนี้ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีคุณธรรม เช่น มีความซื่อสัตย์สุจริต ขยัน อดทนและรู้จักแบ่งปัน เพราะหากไม่มีคุณธรรมต่อให้ปรัชญาดีอย่างไร ก็สามารถนำไปใช้ในทางที่ผิดได้เสมอสำหรับการพิจารณาว่าจะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้ง 3 หลัก ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตก็คือการใช้จ่ายอย่างพอประมาณไม่ฟุ่มเฟือย มีการแบ่งปันส่วนเกินเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อน มีการตัดสินใจดำรงชีวิตด้วยเหตุด้วยผล ต้องเข้าใจตนเองว่ามีข้อจำกัดอย่างไร เช่น มีรายได้เท่าไร ควรใช้จ่ายเท่าไรให้พอดีกับความสามารถในการหารายได้ของตัวเองและเตรียมความพร้อมสร้างระบบภูมิคุ้มกันตนเองด้วยการออมเงินให้เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหากทุกคนนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ไปใช้จริงๆ พวกเราก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เพียงพอกับความสามารถของตนเอง

นักเรียนสามารถศึกษาวิถีชีวิตกับเศรษฐกิจพอเพียงของบุคคลที่เป็นตัวอย่างของชีวิตพอเพียงในอาชีพต่าง ๆ ที่เว็บไซต์ http://www.sufficiencyeconomy.org/life.php?ac=list&n_id=1 และอย่าลืมว่า

“…ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุข ความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรมทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดเบียนจากผู้อื่น…”

คนไทยทุกคนโชคดีที่มีพระเจ้าแผ่นดิน ที่รักและห่วงใยประชาชนอย่างแท้จริง อย่าปล่อยให้ความโชคดีนั้นหลุดลอยไปโดยที่เราไม่ได้ยึด ไม่คว้า และไม่ปฏิบัติตาม

บทความนี้สอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา

มาตรฐาน ส ๓.๑ : เข้าใจและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรในการผลิต และการบริโภค การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รวมทั้งเข้าใจหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพ