Category Archives: โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

โครงการตามแนวพระราชดำริ

  • การจัดการทรัพยากรน้ำ
               จากการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนพสกนิกรนับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ ทำให้ทรงตระหนักว่าภัยแล้งและน้ำเพื่อการเกษตรและบริโภคอุปโภคเป็นปัญหาที่รุนแรงและสำคัญที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใฝ่พระราชหฤทัยเกี่ยวกับการจัดการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างยิ่ง มีพระราชดำริว่าน้ำคือปัจจัยสำคัญต่อมนุษย์และบรรดาสิ่งมีชีวิตอย่างถ่องแท้ ดังพระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2529 ความตอนหนึ่งว่า “…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”

     

     

  • การส่งเสริมการเรียนรู้
              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณยิ่งต่อการศึกษาของเยาวชน ทรงสนับสนุนการจัดตั้งโรงเรียนต่าง ๆ สำหรับเยาวชนทุกประเภท เพื่อสงเคราะห์เด็กยากจนและขาดแคลนการศึกษา นอกจากนี้ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งสถานีส่งโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมขึ้นที่โรงเรียนวังไกลกังวล ทำให้นักเรียนมีโอกาสได้รับความรู้ และศึกษาเล่าเรียนทัดเทียมกับนักเรียนในเมือง รวมทั้งประชาชนผู้สนใจก็ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมได้ นับเป็นการพัฒนาการบริหารงานวิชาการในด้านการจัดการเรียนการสอน การใช้สื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา การขยายโอกาสทางการศึกษา และการอาชีวศึกษาที่กว้างไกลและยังประโยชน์แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า

     

     

  • การพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต
              ด้วยเดชะพระบารมี พระปรีชาสามารถที่ทรงเห็นการณ์ไกล และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมุ่งมั่นบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรที่ยากไร้ในชนบท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ให้ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของราษฎร จัดหาอาชีพให้ราษฎรทำ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้ เพียงพอ แก่การยังชีพ ในภาวะปัจจุบัน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ดำเนินการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตในหลายโครงการ

     

     

     

  • การสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อผู้ด้อยโอกาส
              สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการและการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเสริมและพัฒนาคุณภาพ และศักยภาพของเด็กไทยในชนบท เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เพื่อการเรียนรู้ และการประกอบอาชีพ

     

     

     

  • การพัฒนาบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
              กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับการสร้างคนดี และคนเก่งในสังคม การส่งเสริมและเร่งรัดการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นพลังของประเทศ รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับ

     

     

     

     

  • การถ่ายทอดเทคโนโลยี
              การถ่ายทอดเทคโนโลยี หมายถึงกระบวนการที่นำเอาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น (หรือพัฒนาขึ้น) ในสถานที่หนึ่ง เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่ง ไปใช้ในที่อื่นเพื่อวัตถุประสงค์ เดียวกันหรือเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานในการสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุนให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม  ได้ดำเนินงานโครงการตามแนวทางพระราชดำริ ดังนี้

โครงการพระราชดําริ หญ้าแฝก

โครงการหญ้าแฝก

 

 

โครงการหญ้าแฝก

 

“….ให้ใช้หญ้าแฝกในการพัฒนา ปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม…”

 

พระราชดำริ

เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงครองราชย์ ๖๐ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ และจะทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ ระหว่าง ปี ๒๕๔๘-๒๕๕๐ เพื่อการรณรงค์ส่งเสริมและขยายผลให้ประชาชนปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และนำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม กว้างขวางและต่อเนื่อง โดยการรวมใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เข้าร่วมโครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้การสนับสนุนของ ๑๑ หน่วยงาน ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) เป็นประธานในพิธี กรอบแห่งความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ คือ ทั้ง ๑๑ หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้ตกลงให้มีความร่วมมือกันปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติ ๖๐ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ เฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ มีระยะเวลาดำเนินงานโครงการระหว่างปี ๒๕๔๘-๒๕๕๐ โดยเริ่มดำเนินการดีเดย์ตั้งแต่วันพืชมงคล คือวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ถึงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยมี เป้าหมายที่จะปลูกหญ้าแฝก จำนวนไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ล้านกล้า และจนเกิดผลสำเร็จในการใช้หญ้าแฝกปรับปรุงและรักษาหน้าดินจำนวนไม่ต่ำกว่า ๘๐๐,๐๐๐ จุด ทั่วประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินสนับสนุนกล้าพันธุ์หญ้าแฝก และถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่ลาดชันรอบแหล่งน้ำ บ่อน้ำ สองข้างทางลำเลียง และถนน รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีการบำรุงดูแลรักษาหญ้าแฝกที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง มีการติดตามและปลูกซ่อมแซมให้ครบถ้วน ซึ่งบันทึกข้อตกลงได้มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลง คือ วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘ จนถึง วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

ลักษณะของหญ้าแฝก

หญ้าแฝก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติ จากการสำรวจพบว่า มีกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ ๑๒ ชนิด และสำรวจพบในประเทศไทย ๒ ชนิด ได้แก่
๑. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร ๒ ศรีลังกา สงขลา ๓ และพระราชทาน ฯลฯ
๒. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกดอน ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร ๑ นครสวรรค์ และเลย เป็นต้น
หญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะ แคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกันแน่นยาว หยั่งลึกในดิน มีช่อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็กดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมัน

ลักษณะพิเศษของหญ้าแฝก
การที่หญ้าแฝกถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องมาจากมีลักษณะเด่นหลายประการ ดังนี้
๑. มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง
๒. มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก
๓. หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี
๔. ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้
๕. มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย
๖. ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ
๗. บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์
๘. ปรับตัวกับสภาพต่าง ๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป
๙. ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่าง ๆ

การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่การเกษตร
สำหรับการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งประกอบด้วย
๑. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ ใช้ระยะระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือยและระยะ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ระยะห่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน ๒ เมตร หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน ๔-๖ เดือน
๒. การปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ นำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกที่มีการแตกกอและแข็งแรงดีแล้วไปปลูกในร่องน้ำ โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำ เป็นแนวตรง หรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปทิศทางน้ำไหลอาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหิน ช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก ระยะห่างระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง และระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกไม่เกิน ๒ เมตร ตามแนวตั้งหลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำควรปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำออกไปทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก
๓. การปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้ ควรปลูกหญ้าแฝกในสวนผลไม้ระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนที่จะลง ไม้ผล โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล ๒.๕ เมตร เพื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรียวัตถุในดินต่อไป
๔. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ การปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ โดยการขุดร่องปลูกตามแนวระดับ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ควรใช้ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกหญ้าแฝก หรือปลูก หญ้าแฝกเป็นแนวระหว่างแถวปลูกพืชไร่ และควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้นในช่วงต้นฤดูฝน
๕. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม ในสภาพพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่มที่มีการปรับสภาพเป็นแปลงยกร่องเพื่อปลูกพืชนั้น สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบเขตพื้นที่ หรือปลูกที่ขอบแปลงยกร่องหญ้าแฝกจะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นในดินเอาไว้
๖. การปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน ควรปลูกตามแนวที่ระดับน้ำสูงสุดท่วมถึง ๑ แนว และปลูกเพิ่มขึ้นอีก ๑-๒ แนวเหนือแนวแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของขอบสระ ระยะห่างระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ ๑๐ เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง โดยขุดหลุมปลูกต่อเนื่องกันไป ในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่นเมื่อน้ำไหลบ่ามาลงสระตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำ จะติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อย ๆ ไหลผ่านลงสู่สระและระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดติดดินรอบ ๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการ พังทลาย

รูปแบบการปลูกหญ้าแฝก
เพื่อให้การดำเนินการปลูกหญ้าแฝกตามโครงการนี้มีรูปแบบที่ชัดเจน จึงได้มีการกำหนดรูปแบบการปลูกที่สามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ได้ ซึ่งประกอบด้วย

๑. การปลูกในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวเดี่ยวขวางความลาดชันของพื้นที่ถ้าใช้กล้าแบบรากเปลือยจะปลูกระยะระหว่างต้น ๕ เซนติเมตร ถ้าเป็นกล้าถุงพลาสติก ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น ๑๐ เซนติเมตร โดยปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับ ให้มีระยะห่างระหว่างแถวตาม แนวดิ่งไม่เกิน ๒ เมตร ความยาวของแถวหญ้าแฝกขึ้นกับสภาพพื้นที่ และพื้นที่ว่างระหว่างแถวหญ้าแฝกจะเป็นพื้นที่ปลูกพืชหลัก
๒. สระน้ำปลูก ๒ แถว
– แถวที่ ๑ ปลูกห่างขอบบ่อ ๕๐ เซนติเมตร จนรอบบ่อ
– แถวที่ ๒ ปลูกที่ระดับทางน้ำเข้า จนรอบบ่อ
๓.อ่างเก็บน้ำปลูก ๓ แถว
– แถวที่ ๑ ปลูกที่ระดับทางน้ำล้นจนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ
– แถวที่ ๒ ปลูกที่ระดับสูงกว่า แถวที่ ๑ ตามแนวดิ่ง ๒๐ เซนติเมตร จนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ
– แถวที่ ๓ ปลูกที่ระดับต่ำกว่า แถวที่ ๑ ตามแนวดิ่ง ๒๐ เซนติเมตร จนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ
๔. ปลูกริมคลองส่งน้ำ ๑ แถว ห่างขอบคลองส่ง ๓๐ เซนติเมตร
๕. ปลูกบนร่องสวน ๑ แถว ห่างขอบแปลง ๓๐ เซนติเมตร
๖. ปลูกอยู่บนไหล่ถนน ๑ แถว สำหรับถนนหรือทางลำเลียง
๗. ปลูกครึ่งวงกลมล้อมต้นไม้
– ต้นไม้ขนาดเล็ก รัศมีขนาด ๑ เมตร เป็นระยะทาง ๓ เมตร
– ต้นไม้ขนาดกลาง รัศมีขนาด ๒ เมตร เป็นระยะทาง ๖ เมตร
– ต้นไม้ขนาดใหญ่ รัศมีขนาด ๓ เมตร เป็นระยะทาง ๙ เมตร
๘. ปลูกวงกลมล้อมต้นไม้
– ต้นไม้ขนาดเล็ก รัศมีขนาด ๑ เมตร เป็นระยะทาง ๖ เมตร
– ต้นไม้ขนาดกลาง รัศมีขนาด ๒ เมตร เป็นระยะทาง ๑๒ เมตร
– ต้นไม้ขนาดใหญ่ รัศมีขนาด ๓ เมตร เป็นระยะทาง ๑๘ เมตร
การปลูกหญ้าแฝกทุกครั้งจะต้องปลูกให้ต้นชิดติดกันเป็นแถว ไม่ว่าจะเป็นกรณีแถวตรงหรือแถวโค้งรอบต้นไม้ก็ตาม ถ้าใช้กล้าถุงมีระยะปลูกระหว่างต้น ๑๐ เซนติเมตร และกล้ารากเปลือยระยะปลูก ๕ เซนติเมตร

 

โครงการ ของพระราชดำริ เกี่ยวกับ ดิน

โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับดิน

 

     ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่เลี้ยงชีพโดยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของดินมาช้านาน แผ่นดินจึงเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ด้วยพระปรีชาญาณอันยิ่งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของดิน อันเกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ เช่น บางแห่งเป็นดินเปรี้ยว ดินด่าง ดินเค็ม และบางแห่งก็ไม่มีดินเลย ซึ่งทรงเรียกดินเหล่านี้ว่าดินแร้นแค้นนอกจากนี้ ความเสื่อมโทรมของดินยังเกิดจากการกระทำอันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า และการใช้พื้นที่โดยขาดการอนุรักษ์ จึงพระราชทานแนวพระราชดำริในการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาทรัพยากรดินเป็นอเนกประการ ซึ่งล้วนแต่นำประโยชน์สุขมาสู่เกษตรกรทั่วประเทศ

 

:: ตัวอย่างโครงการ ::

 

โครงการแก้มลิง

โครงการแก้มลิง แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำไม่พอใช้ตลอดปี

แก้มลิง เป็นการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับพื้นที่หน่วงน้ำ (detention basin) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ปัจจุบันมีพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ เหนือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยกำหนดในผังการใช้ที่ดินเป็นพื้นที่เขียวลาย ไม่เหมาะกับการพัฒนา นอกจากนี้ยังมีแก้มลิงเล็กใหญ่กระจายอยู่ทั่ว กรุงเทพ กว่า 20 จุด

โครงการแก้มลิง มีแนวคิดจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มไว้ได้คราวละมากๆ พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสอธิบายว่า“ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อนลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือ เต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง”

ในโครงการ มีการวางแผนพื้นที่แก้มลิงอย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานต่างๆ เช่น กทม. กรมชลประทาน เป็นต้น แก้มลิงมี 3 ขนาด จากใหญ่ กลาง เล็ก มีวัตถุประสงค์เพื่อการชะลอน้ำก่อนที่จะจัดการระบายออกในเวลาต่อมา สามารถเป็นได้ทั้งพื้นที่ของรัฐและเอกชน

 

การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ “แก้มลิง” มีลักษณะและวิธีการดังนี้

1. ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล
2. เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลอง ดังกล่าว โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ
3. สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ “แก้มลิง” นี้ เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง
4. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ โดยยึดหลักน้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)

แผนภาพแสดงแนวพระราชดำริแก้มลิง

หลักการ 3 ประเด็น ที่โครงการแก้มลิงจะสามารถมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริคือการพิจารณา

1. สถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพัก และวิธีการชักนำน้ำท่วมไหล เข้าสู่บ่อพักน้ำ
2. เส้นทางน้ำไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ
3. การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำอย่างต่อเนื่อง

โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ

โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายออกทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ คือ โครงการแก้มลิง “แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง” ซึ่งใช้หลักการในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ

โครงการแก้มลิง แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง จะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ต้องดำเนินการครบระบบ 3 โครงการ ด้วยกัน คือ

– โครงการแก้มลิง “แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง”
– โครงการแก้มลิง “คลองมหาชัย-คลองสนามชัย”
– โครงการแก้มลิง “คลองสุนัขหอน”

โครงการแก้มลิง นับเป็นนิมิตรหมายอันเป็นสิ่งที่ชาวไทยทั้งหลายได้รอดพ้นจากทุกข์ภัยที่นำความเดือดร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ซึ่งแนวพระราชดำริอันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า

“…ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป เพราะโครงการแก้มลิงในอนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่…”

โครงการพระราชดำริ

โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับป่า

 

โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับดิน

โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำ

โครงการทางด้านวิศวกรรม

แนวพระราชดำริอื่นๆ